ง่าย ๆ กับ BASIC SKIN ANATOMY

ขึ้นหัวข้อมาแบบนี้ หลาย ๆ คนคงคิดว่า "แล้วเราที่เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่หมอ ต้องรู้เรื่องนี้ด้วยเหรอ !! ใช้แล้วครับ สำหรับผู้ที่รักจะดูแลสุขภาพผิวหน้า อย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ควรจะต้องทำความเข้าใจก่อน ก็คือ "โครงสร้างและหน้าที่ของผิวหนัง" เพราะพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้เราสามารถดูแลรักษาผิวพรรณของเราได้อย่างถูกต้องปลอดภัย แถมยังมีประโยชน์ ในการใช้เป็นหลักในการเลือก เครื่องสำอางค์ หรือ Skin care ต่าง ๆ ให้เหมาะกับเราได้อีกด้วย 

ถึงแม้ในเรื่องนี้อาจจะดูยากไปบ้างแต่ขอให้เรารู้พื้นฐานสำคัญ ๆ ไว้ ก็เพียงพอแล้วครับ

 

จากรูปเป็นภาพตัดขวางของเซลล์ผิวหนังนะครับ ซึ่งจะประกอบด้วย 3 ชั้น คือ epidermis , dermis และ subcutaneous layer นั่นเอง เราจะมาดูในแต่ละชั้นกันครับ

1. Epidermis layer

epidermis layer หรือผิวหนังชั้นนอก หรือหนังกำพร้านั่นเอง ก็ตามชื่อเลยครับ คือเป็นส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุดของผิวเรา ทำหน้าที่ปกป้องร่างกาย กันสิ่งแปลกปลอม เป็นภูมิคุ้มกัน รวมถึงป้องกันรังสี UV ด้วย จะมีการสร้างทดแทนและหลุดไปตลอด ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เริ่มสร้างจนหลุดออกไป จะใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน ซึ่งผิวในชั้นนี้จะแบ่งย่อยได้อีก 4  ชั้น ได้แก่ basal call layer , spinous layer , granular layer cells , stratum corneum

basal cell layer (BL) ที่อยู่ชั้นลึกสุด เป็นเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งจะผลิตเซลล์ และค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างดันขึ้นสู่ชั้น บน ๆ ต่อไป ดังนั้นผิวชั้นนอกจะออกมาดูดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับชั้นนี้เป็นสำคัญ ซึ่งในชั้นของ Basal cell จะเป็นชั้นที่ได้รับเลือด และอาหารจากชั้นหนังแท้ มาเลี้ยงอยู่ ส่วนชั้นที่อยู่ถัดขึ้นไปก็จะค่อย ๆ เสื่อม และหลุดลอกออกเป็นขี้ไคล ในที่สุด

spinous layer (SL) เป็นชั้นถัดมา ที่เซลล์จะเริ่มมีการเปลี่ยนรูปร่างไป

granular layer (GL)  เป็นชั้นที่ทำสร้าง kerato-hyalin granule ซึ่งจะยึดเส้นใย keratin ไว้เป็นเหมือนกำแพง ป้องกันการสูญเสียน้ำ และเป็นกำแพงปกป้องผิว

stratum corneum (SC) เป็นชั้นนอกสุด ของผิว ซึ่งเซลล์ทั้งหมด เป็นเซลล์ที่ตายแล้ว ผิวในชั้นนี้ ถ้าเรียกแบบง่าย ๆ ก็คือ "ชั้นขี้ไคล" นั่นแหละครับ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกำแพงผิว ป้องกันร่างการจากการติดเชื้อทางผิวหนัง ป้องกันการสูญเสียน้ำในเซลล์ และป้องกันอันตรายจากสารเคมีและมลภาวะต่าง ๆ ด้วย (เครื่องสำอางส่วนมากที่ทาก็มักจะอยู่ได้เพียงในชั้นนี้เท่านั้นแหละครับ)

2.Dermis layer

ชั้นหนังแท้ หรือ dermis layer เป็นผิวหนังใต้ชั้นหนังกำพร้า  มีส่วนประกอบหลัก เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) ซึ่งทำหน้าที่ในการรองรับแรงกระแทก และสร้างความยืดหยุ่นให้ผิวหนัง

ผิวหนังในชั้นนี้จะประกอบด้วยสองส่วนคือ

- papillary layer เป็นชั้นที่อยู่ติดหนังกำพร้า ส่วนมากเป็นที่อยู่ของเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงหนังกำพร้า

- reticular layer เป็นชั้นที่มี เนื้อเยื่อเกี่ยวพันจำนวนมาก (connective tissue) ซึ่งหลาย ๆ ชื่อมักจะคุ้นหู เช่น คอลลาเจน (Collagen) , อีลาสติน (Elastin) และ เรติคิวลา (Reticular fiber) ซึ่งเส้นใยเหล่านี้มีลักษณะเป็นโปรตีน มีคุณสมบัติทั้ง แข็งแรง และยืดหยุ่น ทำหน้าที่เป็นเหมือนโครงสร้างภายในให้ผิว 

C0 = collagen , E =elastin เส้นใย ในชั้น reticular ของชั้นหนังแท้จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างภายในให้กับผิว

ในชั้นของหนังแท้ถือว่ามีความสำคัญต่อผิวอย่างมาก รวมถึงในแง่ความสวยงามเอง เรามักจะได้ยินคำว่า กระตุ้นคอลลาเจน รักษาคอลลาเจน ซึ่งโดยมากแล้ว ครีมบำรุงมักจะไม่สามารถได้ผลลงมาถึงชั้นนี้ได้ การจะรักษาสภาพของ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันเหล่านี้ให้แข็งแรง สมบูรณ์ ต้องอาศัยหลายปัจจัย ทั้งการหลีกเลี่ยงแสงแดด ทาครีมกันแดด เลี่ยงบุหรี่ การรรับประทานอาหาร วิตามิน ให้เหมาะสม  หรืออาจปรึกษาแพทย์เพื่อใช้การรักษาที่สามารถกระตุ้นผิวหนังในชั้นนี้ได้

3.Subcutaneous layer

ผิวหนังชั้นนี้เป็นชั้นลึกสุดของผิวหนัง ประกอบด้วย ไขมัน (adipose tissue) เป็นส่วนมาก  เป็นส่วนที่ช่วยรองรับแรงกระแทก และทำให้ผิวหนังเคลื่อนไหวได้ง่าย ซึ่งในผิวหนังชั้นนี้จะมีส่วนประกอบสำคัญ อื่น ๆ ต่อผิวได้แก่ เส้นเลือด เส้นประสาท 

 

ในแง่ของความสวยงามแล้ว การดูแลผิวหน้าด้วยครีม เครื่องสำอางต่าง ๆ นั้น มักจะเกี่ยวข้องกับผิวชั้นหน้า หรือชั้นหนังกำพร้าเป็นหลัก ไม่ว่าครีมจะแพงแค่ไหน ก็มักจะไม่สามารถลงมาถึงชั้นหนังแท้ได้ (ยกเว้นยาบางชนิด) การทาครีมจึงมีจุดประสงค์หลักในเรื่องของการรักษาความชุ่มชื้นผิวหนัง การผลัดเซลล์ผิวชั้นขี้ไคลเพื่อให้ผิวดูแข็งแรงเป็นเซลล์ใหม่ และการทาครีมที่มีส่วนประกอบของ anti-oxidant และครีมกันแดด ก็ยังมีความจำเป็น ที่จะรักษาสภาพผิวชั้นนอก รวมถึงป้องกันอันตรายของรังสี UV ที่จะลงมาทำร้ายผิวถึงชั้นหนังแท้ได้

 ดังนั้นในกรณีที่เป็นริ้วรอยเล็ก ๆ ภายนอก หรือจุดด่างดำตื้น ๆ การรักษาด้วยการทาครีมก็สามารถช่วยได้ แต่กรณีที่ปัญหาอยู่ลึกลงมาถึงชั้น dermis เช่น ริ้วรอยลึก ๆ ฝ้า หลุมสิว การจะรักษาจึงต้องให้แพทย์เป็นเป็นผู้พิจารณาครับ 

 

นพ.เอกพงศ์  อธิคมชัยวงศ์ (หมอวี)

ติดต่อเรา/ปรึกษาแพทย์